วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556


 

กินอย่างไรยามตั้งครรภ์ 

 

 

    เรื่องอาหารคนท้อง หรือการกินในช่วงตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่จะต้องใส่ใจให้ร่างกายได้คุณค่าครบถ้วน 5 หมู่ และถูกสุขอนามัยแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณแม่พึงระมัดระวังกันด้วย ไปดูกันค่ะว่า มีอะไรที่ควรไม่ควรในเรื่องนี้กันบ้าง 

Do
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน
  • อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรปรุงสุก ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ
  • กินผักผลไม้ให้หลากหลาย และควรล้างให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน
  • กินอาหารสดที่นำมาปรุงสุกใหม่ๆ และใช้เครื่องปรุงรสแต่น้อย
  • เน้นกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะธาตุเหล็กจะช่วยสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสำคัญที่นำเอาออกซิเจนมาสู่ ลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่สามารถได้รับธาตุเหล็กจากอาหารธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่ว ผักโขม ตับ เป็นต้น
  • ดื่มนมวันละ 2 แก้ว ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 
Don’t
  • ไม่ควรทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม เผ็ดจัด อาหารหมักดอง
  • ไม่ควรทานตับมากเกินไป เพราะแม้จะมีธาตุเหล็กสูงแต่ก็อุดมด้วยวิตามินเอ ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการแก่ทารกได้
  • เลี่ยงการกินผลไม่ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน เงาะ ลำใย
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดระยะการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ทารกเริ่มมีการสร้างสมอง เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง เพราะจะทำให้ลูกที่เกิดมาเป็นโรค Fetal Alcohol Syndrome ที่จะส่งผลให้มีพัฒนาการช้าและไอคิวต่ำ
  • เลี่ยงหรือลดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึม แคลเซียมและธาตุเหล็กลดลงได้
  • ไม่ควรซื้อยาบำรุงมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 


แนะนำอาหารสำหรับคนท้อง 1-9 เดือน

 

อายุครรภ์
 (ท้องกี่เดือน)
          อาหารและสารอาหารที่เหมาะสม (คนท้อง 1 -9 เดือน)

ท้อง 1 เดือน 


  • คุณแม่ที่ตั้งท้อง 1 เดือน ควรดื่มน้ำผลไม้สด หรือนมวันละ 1 แก้ว ยกเว้นในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องควรงดนมไว้ก่อน
  • ตั้งท้อง 1 เดือน ควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโฟเลต และอาหารประเภทปลาทะเล ที่มี  DHA เช่น ปลาทูน่า หรือน้ำมันสกัดจากผลิตภัณฑ์ทางทะเล ที่จะส่งผลดีต่อระบบการทำงานของเซลล์สมองลูกน้อยในครรภ์

ท้อง 2 เดือน


  • ท้อง 2 เดือนที่มีอาการแพ้ท้อง  คลื่นไส้ และอาเจียนบ่อย  อาจทำให้สูญเสียน้ำ และสารอาหารบางอย่าง  จึงควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย ไม่คาว ไม่มัน กลิ่นน้อยๆ มีโปรตีนสูง เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก   
  • ท้อง 2 เดือน ควรรับประทานผลไม้สด เป็นอาหารว่าง

ท้อง 3 เดือน


  • คุณแม่ตั้งท้อง 3 เดือนบางท่านอาจเริ่มมีอาการท้องผูก จึงควรดื่มน้ำให้มาก หรือรับประทานผักสด ผลไม้มากๆ เพื่อช่วยเพิ่มเส้นใย ที่จะช่วยให้ถ่ายง่ายขึ้น

ท้อง 4 เดือน


  • ทารกในครรภ์เริ่มมีการสร้างกระดูกและฟัน  คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง ควรดื่มนมอย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน ควรเน้นอาหารประเภทโปรตีน และธาตุเหล็ก เพิ่มขึ้น  ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะมีอยู่ในตับ ไข่แดง นม ใบตำลึง ใบขี้เหล็ก ฯลฯ

ท้อง 5 เดือน


  • เพราะสมองและระบบประสาทของลูกน้อยยังเจริญเติบ โต  คุณแม่ควรรับประทานสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย  ได้แก่ DHA โฟเลต สังกะสี และวิตามินบี 12  แหล่งอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารพัฒนาสมอง เช่น นม ไข่ เนื้อปลา อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ใบเขียว เนื้อสัตว์ เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ

ท้อง 6 เดือน


  • เมื่อท้อง 6 เดือน คุณแม่อาจพบว่าเป็นตะคริวบ่อยครั้งในช่วงนี้  ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินสูง เช่น นม ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียว ไข่ ถั่วลิสง หรือเครื่องในสัตว์ 

ท้อง 7 เดือน 
  • สำหรับคุณแม่ตั้งท้อง 7 เดือน ช่วงนี้คุณแม่จะต้องการพลังงานจากสารอาหารมากขึ้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่  เนื้อปลา ปลาเล็กปลาน้อย ผัก และผลไม้  เพื่อสะสมสารอาหารที่จำเป็นไว้สำหรับเตรียมให้น้ำนมกับลูกหลังคลอด

ท้อง 8 เดือน


  • ลูกเริ่มมีการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง และจะมีการสร้างต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังคลอด  คุณแม่ควรอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารพัฒนาสมอง เช่น นม ไข่ เนื้อปลา อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ใบเขียว เนื้อสัตว์ เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ

ท้อง 9 เดือน


  • เป็นระยะใกล้คลอดแล้ว ดังนั้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นแคลเซียม เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมให้เพียงพอหลังคลอด และควรรับประทานธาตุเหล็ก จากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม ไข่ ถั่ว เมล็ดแห้ง งา ฯลฯ ให้มากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตที่จะต้องสูญเสียในขณะคลอด ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้คุณแม่เป็นโรคโลหิตจางหลังคลอด

วิดีโอโภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์